Wednesday, July 27, 2016

วันแม่แห่งชาติ



วันแม่แห่งชาติ



ประวัติวันแม่แห่งชาติ

        แต่เดิมนั้น วันแม่แห่งชาติได้กำหนดเอาวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรองเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๓ ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้รับมอบหมายให้จัดงานวันแม่ มาตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นครั้งแรก เป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างออกไปได้ การจัดงานไม่เพียงแต่จัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังจัดให้มีการประกวดแม่ของชาติ ประกวดคำขวัญวันแม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่แม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของงานวันแม่ให้ยิ่งๆ ขึ้น ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยนั้น) แต่ทั่วไปเรียกกันว่า วันแม่ของชาติ
       
       ต่อมาถึง พุทธศักราช ๒๕๑๙ ทางราชกาารได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือว่าวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็น วันแม่แห่งชาติ เริ่มในปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ เป็นต้นมา จากหนังสือของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ชื่อแม่หลวงของปวงชน พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ มีข้อความตอนหนึ่งเทิดพระเกียรติไว้ว่า
"แม่ที่ดีย่อมรู้จักส่งเสริมธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เพราะแม่ทราบดีว่าถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้วความเป็นไทยที่แท้จริงจะมิปรากฏอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา
แม่ที่ดีย่อมประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี ตามระบอบของการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข โดยรักเคารพและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด
หญิงไทยทุกคน ย่อมจะมีคุณลักษณะต่างๆ ของแม่ที่ดีดังกล่าวข้างต้นอยู่แล้ว จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการศึกษาและการฝึกอบรม แต่จะหาหญิงใดที่มีคุณลักษณะครบถ้วนทุกประการเสมอเหมือนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นั้นไม่ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเทิดทูนพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่าทรงเป็นแม่หลวงของปวงชน ผู้ทรงเป็นศรีสง่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของบ้านเมืองและของประชาชนชาวไทยทั้งมวล"






ความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติ

        ชาวอเมริกันเป็นผู้กำหนดให้มีวันแม่อย่างเป็นทางการขึ้น และผู้ที่พยายามเรียกร้องให้มีวันแม่ในอเมริกา คือ แอนนา เอ็ม. จาร์วิส คุณครูแห่งรัฐฟิลาเดลเฟีย แต่กว่าเธอจะประสบความสำเร็จก็ครบ 2 ปีพอดีในปี พ.ศ.2457 โดยประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ได้มีคำสั่งให้ถือวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และดอกไม้สำหรับวันแม่ของชาวอเมริกันก็คือดอกคาร์เนชั่น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือถ้าแม่ยังมีชีวิตอยู่ให้ประดับตกแต่งบ้าน หรือประตูด้วยดอกคาร์เนชั่นสีชมพู แต่ถ้าแม่ถึงแก่กรรมไปแล้วให้ประดับด้วยดอกคาร์เนชั่นสีขาว

ความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย

      วันแม่แห่งชาติ งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีงานวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
     
     ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ ดอกมะลิ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทำไมจึงใช้ดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำวันแม่

        การที่ใช้ดอกมะลิ เป็นสัญลักษณ์วันแม่ ก็เพราะดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอมที่หอมไปไกลและหอมได้นาน ผลิดอกได้ทั้งปี อีกทั้งยังนำไปปรุงเป็นเครื่องยาหอมใช้บำรุงหัวใจได้ด้วย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ลึกซึ้งที่แม่มีต่อลูก เป็นความรักที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาที่ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีพิษมีภัย มีแต่ความชุ่มชื่นใจดั่งความหอมของดอกมะลิ


ดอกมะลิ